
บ้านเย็บจีวร
ประวัติ ชุมชน บ้านบาตร
ชุมชนบ้านบาตร
ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณสี่แยกเมรุปูน ซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมืองและถนนบริพัตร แขวงสำราญราษฎร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ 37 งาน ที่ดินเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สภาพทั่วไปเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวและสองชั้น รวมถึงบ้านปูนตามแบบสมัยใหม่ ปลูกอยู่ติดกัน ทางเดินเท้าภายในชุมชนเป็นคอนกรีตเชื่อมติดต่อกันตลอด...
กว่าจะเป็น " ย่านบ้านบาตร"
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อครั้งอดีตทรงเป็นทหารหลวงในสมัยอยุธยา มีพระราชประสงค์จะให้กรุงเทพฯเป็นราชธานีแห่งใหม่ เป็นศูนย์กลางอาณาจักร ด้วยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่มั่งคั่งสมบูรณ์ไม่แพ้กรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านที่อพยพมาจากกรุงเก่า และชาวบางกอกเดิม ต่างก็ต้องปรับตัวให้ตนอยู่รอดมากที่สุด ดังนั้นชุมชนเดิมที่รวมกลุ่มเป็นหมู่บ้านแบบ
เฉพาะถิ่น อาทิ กลุ่มชาวนา กลุ่มพ่อค้า กลุ่มชาวจีน ชาวญวน หรือแม้แต่กลุ่มอาชีพดั้งเดิมก็ถูกรื้อฟื้นให้มีขึ้น เช่น ที่ถนนบำรุงเมืองหลังวัดสระเกศ ใกล้กับเมรุปูนมีซอยย่อยที่ตั้งใกล้กันอยู่ยาวทั่วทั้งถนน ในอดีตนั้นถนนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งชุมชนคนทำกินอาชีพหนึ่ง ที่สามารถสร้างรายได้
ให้กับชาวบ้านได้ตลอดทั้งปี ย่านนี้เรียกกันว่า "บ้านบาตร"
บ้านบาตรตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด ประมาณกันว่า ชุมชนมีอายุยาวนานกว่าสองร้อยปี แหล่งที่มาของชาวบ้านบาตร มีประวัติศาสตร์บอกเล่าที่แตกต่างกัน ปรากฏคำบอกเล่าว่า คนบ้านบาตรเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา อพยพมาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ.2310
สันนิษฐานว่า บ้านบาตรอาจตั้งขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี
และขุดคลองรอบกรุงขึ้นในปี พ.ศ. 2326 ชาวบ้านบาตรจึงมาตั้งบ้านเรือนในละแวกนอกคลองตามที่อยู่ปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังมีคำบอกเล่าต่อ ๆกันว่า บรรพบุรุษเดิมเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาที่เข้ามากับกองทัพไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากนั้นได้รวมกันมาอยู่ที่ตรอกบ้านบาตรจนกลายเป็นชุมชน เนื่องจากพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้มีฐานะมักนิยมสร้างวัด ทำให้มีวัดในกรุงเทพฯ จำนวนมาก ในชุมชนแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านทำบาตรพระ และประกอบอาชีพนี้มานานกว่า 100 ปีแล้ว
บาตร : หัตถกรรมที่กำลังโรยรา
เนื้อความในพงศาวดารฉบับหนึ่งกล่าวถึงภูมิสถานอยุธยาว่า ตลาดหน้าวัดพระมหาธาตุที่กลางกรุง เป็นตลาดค้าบาตรถลกบาตร เฉกเช่นเดียวกับตลาดเสาชิงช้ากลางกรุงเทพมหานคร อันเป็นย่านการค้าพระพุทธรูปใหญ่น้อยและเครื่องสังฆภัณฑ์นานาชนิด สถานที่ดังกล่าวนี้เองเคยเป็นตลาดใหญ่ขายส่งบาตรของชาวบ้านเมื่อหลายสิบปีล่วงมาแล้ว ทั้งนี้ด้วยอาศัยแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนร่วมกันทำนุบำรุงค้าชูพระศาสนาโดยประเพณีบวชลูกหลานสืบเนื่อง
ต่อกันมาโดยไม่ขาดสาย ชาวบ้านบาตรจึงมีงามอุดมพอเลี้ยงชีพและผดุงศิลปะการทำบาตร
ต่อมาในชุมชนบ้านบาตรทุกเหย้าเรือน
"จนกระทั่งปีพ.ศ.2514มีการก่อตั้งโรงงานผลิตบาตรพระขึ้นมาจึงทำให้กิจการทำบาตรพระที่บ้านบาตรค่อยๆลดน้อย
ลงไป "ก่อนหน้านั้นบ้านบาตรทำบาตรพระกันทั้งหมู่บ้าน พอเจอบาตรปั๊มจากโรงงานตีตลาด
เราก็หยุดไปประมาณ 20-30 ปี มาปี พ.ศ.2544 มีการตั้งกลุ่มทำบาตรพระขึ้นมา โดยท่านชาญชัย วามะศิริ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบฯ ท่านได้ส่งเสริมอนุรักษ์การทำบาตรของเรา โดยการส่งเสริมพานักท่องเที่ยวเข้ามาดูวิธีการทำบาตร ตอนนี้งาน เริ่มขยับตัวขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544-2545"
(คุณหิรัญ เสือศรีเสริม รองประธานชุมชนบ้านบาตร)
ปัจจุบันมีการผลิตบาตรบุน้อยลงมากและจำกัดอยู่เพียงจำหน่ายเป็นของที่ระลึกหรือรับสั่งทำจาก
พระสงฆ์โดยตรงเท่านั้น ปัจจัยหลักที่ทำให้หัตถกรรมบาตรบุลดน้อยถอยลงเป็นลำดับเนื่องจากมี "บาตรปั๊ม" เข้ามาแทนที่เมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นส่วนใหญ่ บาตรปั๊มซึ่งมีกำลังการผลิตสูง
ราคาขายส่งถูก จึงเป็นที่ต้องการของพ่อค้าคนกลางเทียบกันตามราคาขาย "บาตรบุ" ขนาด 7 นิ้ว
จำหน่ายในราคา 800 บาท บาตรปั๊มสามารถขายในราคาเพียง 100 กว่าบาทเท่านั้น พ่อค้าคนกลางจึงหันมาจำหน่ายบาตรปั๊ม และกดราคาบาตรบุลง จนช่างไม่สามารถหากำไรจากการขายส่งได้ จึงหันมารับงานที่ผู้ว่าจ้างต้องการความประณีตเป็นพิเศษโดยไม่เกี่ยงราคา บางคนก็เลิกอาชีพช่างไปประกอบอาชีพอื่น บาตรปั๊มจึงเข้ายึดครองตลาดจนบาตรบุขาดหายไปจากตลาดเครื่องสังฆภัณฑ์ในช่วง 30 ปีนั้น
บาตรบุของชาวบ้านบาตรมีราคาสูงเนื่องจากการทำบาตรต้องอาศัยช่างหลายประเภท แบ่งค่าจ้างแรงงานให้กับช่างฝีมือต่างๆ ประกอบด้วย ช่างตีขอบ ช่างต่อบาตร ช่างแล่น ช่างลาย ช่างตีและช่างตะไบ จึงมีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนสูงช่างบางคนก็ทำได้เองทุกขั้นตอนแต่แบ่งงานกันไปตามความชำนาญเป็นการผ่อนแรงโดยมาก
วัสดุที่ใช้ทำบาตร ในอดีตคือ ตัวถังเหล็กยางมะตอย ที่ทางเทศบาลกรุงเทพมหานครใช้ใส่ยางมะตอยเพื่อราดถนน เมื่อถึงเวลาจะมีคนนำถังยางมะตอยที่ใช้แล้วมาส่งให้ที่ชุมชน ราคาประมาณ 10 กว่าบาทต่อถัง 1 ใบ โดยถังยางมะตอยทำจากเหล็ก มีเนื้อบาง ทำให้สามารถตีบาตรได้ง่าย สะดวก และราคาไม่แพง
ปัจจุบัน เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นจึงทำบาตรจากเหล็กแผ่น ที่ต้องหาซื้อเองจากแถวหัวลำโพง ราคาเฉลี่ยต่อบาตรใบละ 100 บาท สาเหตุที่ทำให้วัตถุเปลี่ยนแปลง เนื่องจากชาวบ้านบาตรชะงักการผลิตลงในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อทำบาตรใหม่อีกครั้งจึงต้องเริ่มต้นใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนคุณภาพบาตรให้ดีกว่าเดิม เพื่อแข่งขันกับ "บาตรปั๊ม" "บาตรบุ" จึงต้องทำจากเหล็กหนา ให้เป็นสินค้าที่ทำด้วยมือถูกต้อง
ตามหลักพระวินัย บาตรจึงมีราคาสูงขึ้นจากเดิมมาก ทั้งวัสดุมีราคาสูง และค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้นด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อนในการทำบาตรด้วยเหล็กคุณภาพดี
ด้วยคุณสมบัติของบาตรที่ทำด้วยมือของชาวบ้านบาตร เมื่อเทียบกับราคาแล้วถือว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับบาตรปั๊มที่ทำจากเครื่องจักรกล นอกจากนั้น บาตรยังต้องกับพระวินัยและ ยังมีความคงทนมีความหลากหลายในรูปทรงที่สืบทอดภูมิปัญญามาแต่โบราณ ซึ่งช่างทำบาตรที่ยึดอาชีพนี้จะต้องทำด้วยใจรักอย่างแท้จริง ทำขึ้นด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ด้วยความเคารพในวิชาความรู้ ครูบาอาจารย์ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้สอยในการยังชีพทุกชิ้น ตามแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย บาตรของชาวบ้านบาตรจึงกอปรด้วยคุณค่าที่ผสานฝีมือแรงงานและจิตใจไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนบางครั้งการตีค่าความคุ้มค่าของบาตรอาจไม่สามารถกำหนดด้วยค่าเงินตรา แต่ควรเป็นค่าที่จิตใจมากกว่า


