top of page

ขั้นตอนการทำบาตร

 

บาตรที่มีลักษณะตรงตามหลักพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มี 2 ชนิดเท่านั้น
คือ ‘บาตรดินเผา' และ ‘บาตรเหล็กรมดำ' โดยควรมีขนาด 7-11 นิ้ว อีกทั้งพระพุทธองค์ยังทรงบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรที่ทำจากโลหะหรือวัสดุที่มีมูลค่าสูง เช่น ทอง เงิน ทองเหลือง ทองแดง อัญมณี และแก้วผลึกต่างๆ แม้แต่บาตรที่ทำจากดีบุก สังกะสี หรือไม้ ก็ใช้ไม่ได้ 

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป จึงอนุโลมให้ใช้บาตรที่ทำจากสแตนเลส เนื่อง จากสะดวกในการดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย จึงเป็นที่นิยมในหมู่สงฆ์ ส่วนฝาบาตรนั้นในสมัยพุทธกาลจะทำจากไม้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ฝาสแตนเลสแทน เนื่องจากฝาบาตรที่ทำจากไม้มีปัญหาแตกหักง่าย แต่พระระดับเกจิ ในภาคอีสานบางรูปก็ยังใช้ฝาบาตรที่ทำจากไม้อยู่ โดยนำไม้มะค่าหรือไม้ประดู่มากลึงให้ได้รูปทรงเข้ากับตัวบาตร 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วัตรปฏิบัติในการใช้บาตร 

“พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรใช้บาตรที่ทำจากโลหะมีค่า เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้พระได้รับอันตรายจากโจรผู้ร้ายที่มาแย่งชิงบาตร เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น นอกจากพระจะออกบิณฑบาตเพื่อนำอาหารมาขบฉันแล้ว ก็ยังต้องออกธุดงค์ไปตามเมืองต่างๆ เพื่อเผยแผ่ธรรมะ ด้วย อีกทั้งการใช้บาตรที่ทำจากของที่มูลค่าสูงอย่างเงินหรือทองคำ อาจทำให้พระเกิดกิเลสได้ง่าย แต่ในปัจจุบันบางวัดอาจอนุโลมให้ใช้บาตรสแตนเลสได้ ในกรณีพระที่บวชไม่นาน เช่น บวชหน้าไฟ บวชช่วงเข้าพรรษา 1-3 เดือน 

นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังทรงบัญญัติว่า ห้ามพระภิกษุใช้บาตรที่มีขนาดเกิน 11 นิ้ว เนื่องจากในสมัยพุทธกาลมีภิกษุรูปหนึ่งโลภมาก จึงใช้บาตรลูกใหญ่ในการบิณฑบาต หากบิณฑบาตได้อาหารดีๆ ก็จะนำไปซ่อนไว้ใต้บาตร เพื่อที่จะได้ฉันคนเดียว เมื่อบิณฑบาตได้อาหารจำนวนมากก็ฉันไม่หมด เน่าเสีย ต้องเททิ้ง ขณะที่พระบางรูปไม่มีอาหารจะฉัน พระพุทธเจ้าเห็นดังนั้นจึงทรงบัญญัติห้ามไม่ให้ใช้บาตรที่มีขนาดใหญ่เกินไป” 

พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย เกี่ยวกับการใช้บาตรของพระภิกษุสงฆ์ไว้หลายประการ เช่น ในการบิณฑบาตให้พระภิกษุรับบาตรได้ไม่เกิน 3 บาตร ซึ่งหมายถึงว่าเมื่อบิณฑบาตจนเต็มแล้ว สามารถถ่ายของออกจากบาตร และรับบาตรได้อีกไม่เกิน 3 ครั้ง, เวลาบิณฑบาต 
ห้ามสะพายบาตรไว้ด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้บาตรไปชนอะไรแตกหักเสียหาย, ห้ามเปิดประตูขณะที่มือถือบาตรอยู่ เพราะอาจทำให้บาตรหล่นและแตกหักได้ ต้องวางบาตรให้เรียบร้อยก่อนแล้วค่อยเปิดประตู, ขณะที่ถือบาตรอยู่ห้ามห่มจีวร ต้องวางบาตรให้เรียบร้อยก่อนจึงจะทำการขยับหรือนุ่งห่มจีวร, 
ห้ามวางบาตรชิดขอบโต๊ะ โดยต้องวางให้ห่างจากขอบโต๊ะอย่างน้อย 1 ศอกเพื่อป้องกันบาตรตกแตกเสียหาย
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บาตรพระนั้นมีอยู่ 5 ทรงด้วยกัน คือ 

1. ทรงไทยเดิม มีฐานป้าน ก้นแหลม จึงไม่สามารถวางบนพื้นได้ ต้องวางบนฐานรองบาตร 
2. ทรงตะโก ฐานมีลักษณะคล้ายทรงไทยเดิม แต่ก้นมนย้อย สามารถวางบนพื้นได้ 
3. ทรงมะนาว รูปร่างมนๆ คล้ายกับผลมะนาวแป้น 
4. ทรงลูกจัน เป็นบาตรทรงเตี้ย ลักษณะคล้ายทรงมะนาว แต่จะเตี้ยกว่า 
5. ทรงหัวเสือ รูปทรงคล้ายกับทรงไทยเดิม แต่ส่วนฐานตัดเล็กน้อย สามารถวางบนพื้นได้ 

สำหรับทรงไทยเดิมและทรงตะโกนั้น จัดว่าเป็นทรงโบราณ ที่มีมานับร้อยปีแล้ว ขณะที่ทรงมะนาวและทรงลูกจันนั้นมี อายุประมาณ 80-90 ปี
ส่วนทรงหัวเสือเป็นรุ่นหลังสุด มีมาประมาณ 30 ปี เป็นทรงที่พระสายธรรมยุตนิยมใช้ ส่วนทรงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันได้แก่ ทรงตะโก

ขั้นตอนการทำบาตรบาตรพระ มี ๗ ขั้นตอนดังนี้

 

ขั้นตอนที่ 1 ทำขอบบาตร ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกของการทำบาตรพระ เนื่องจากขอบบาตรจะเป็นตัวกำหนดว่าบาตรใบนั้นจะมีขนาดและรูปทรงอย่างไร การขึ้นรูปขอบบาตรเริ่มจากการนำเหล็กมาตัดตามแต่ขนาดของบาตร เช่น บาตรขนาด 7 นิ้ว จะต้องตัดแผ่นเหล็กให้มีความยาว 8 นิ้ว เพื่อเหลือเนื้อที่ไว้ประกบปลายทั้งสองข้าง เมื่อได้เหล็กที่มีขนาดตามต้องการแล้ว ก็นำมาตีขมวดเป็นวงกลม ซึ่งเหล็กที่นำมาใช้นั้นจะใช้ฝาถังน้ำมันหรือใช้เหล็กแผ่นก็ได้ 

ขั้นตอนที่ 2 การประกอบกง ช่างจะตัดแผ่นเหล็กเป็นรูปกากบาท ซึ่งเรียกว่า ‘กง' จากนั้นจึงดัดงอขึ้นรูปแล้วนำมาติดกับขอบบาตร เมื่อขึ้นรูปเสร็จจะเหลือช่องว่างรูปสามเหลี่ยมใบโพ 4 ช่อง ช่างจะวัดและตัดแผ่นเหล็กรูปร่างเหมือนใบหน้าวัว 4 ชิ้น ที่เรียกว่า ‘หน้าวัว' หรือ ‘กลีบบัว' จักฟันโดยรอบเพื่อใช้เป็นตะเข็บเชื่อมกับส่วนต่างๆ ตีให้งอเล็กน้อยตามรูปทรงของบาตร ซึ่งเมื่อประกอบกันแล้ว จะได้บาตรที่มีตะเข็บ 8 ชิ้นพอดี 

ขั้นตอนที่ 3 การแล่น คือการเชื่อมประสานรอยตะเข็บ ให้เหล็กเป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้ผงทองแดงกับน้ำประสานทองทาให้ทั่วบาตรก่อน เพื่อให้น้ำประสานทองเชื่อมโลหะไม่ให้มีรูรั่ว สมัยโบราณใช้เตาแล่นแบบที่ใช้มือสูบลมเร่งไฟ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้เครื่องเป่าลมไฟฟ้าแทน 

ขั้นตอนที่ 4 การลาย หรือการออกแบบรูปทรง เป็นการนำบาตรที่แล่นแล้วมาเคาะให้ได้รูปทรงที่ต้องการ โดยจะใช้ ‘ค้อนลาย' ซึ่งเป็นค้อนรูปโค้งงอ หัวค้อนมีลักษณะแหลม เคาะด้านในของบาตร สำหรับที่รองเคาะนั้นเป็นทั่งไม้สี่เหลี่ยมขนาดพอเหมาะกับบาตร 

ขั้นตอนที่ 5 การตี ช่างจะใช้ค้อนเหล็กตีผิวด้านนอกของบาตรให้รอบ เพื่อให้ส่วนที่นูนออกมาจากการลายเรียบเสมอกัน รวมทั้งตีให้รอยตะเข็บที่ยังขรุขระเรียบเสมอกัน จากนั้นต้องนำไป ‘ตีลาย' บนทั่งไม้ เพื่อให้ได้รูปทรงตามต้องการ แล้วนำไปเจียรต่อโดยใช้เครื่องเจียรไฟฟ้า แล้วจึงตะไบตกแต่งให้สวยงามอีกครั้ง ซึ่งจะได้บาตรสีเงินขึ้นเงาแวววับ 

ขั้นตอนที่ 6 การสุม หรือระบมบาตร เพื่อป้องกันการเกิดสนิม โดยในสมัยก่อนจะใช้กำมะถันทา จากนั้นจึงนำบาตรมากองรวมๆ กัน แล้วใช้หม้อครอบสุม เชื้อเพลิงที่ใช้จะเป็นเศษไม้สักจากร้านขายเครื่องไม้ซึ่งมีอยู่รอบภูเขาทอง เนื่องจากไม้สักเป็นไม้ที่ให้ความร้อนสูง ซึ่งบาตรที่ได้จากการสุมจะมีสีดำ จากนั้นจึงใช้น้ำมันมะพร้าวทาทับอีกครั้ง แต่ปัจจุบันนิยมใช้น้ำมันกันสนิมชโลมให้ทั่วตัวบาตรแทน 

ขั้นตอนที่ 7 การทำสี อันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งทำให้บาตรเป็นสีต่างๆ เช่น สีเขียว สีดำสนิท นั้นถือเป็นเทคนิค เฉพาะตัวของช่างแต่ละคน รวมทั้งการแกะสลักลวดลายไทย การตีตรา การสลักชื่อช่างผู้ทำ ซึ่งจะทำหรือไม่ก็แล้วแต่ความพอใจของช่างตีบาตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บาตรมีทั้งสุมเขียว และรมดำ 

ส่วนสีของบาตรพระนั้นส่วนใหญ่จะนิยมสีดำเป็นหลัก โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 แบบ คือ ‘สุมเขียว' และ ‘รมดำ'ซึ่งสุมเขียว ก็คือการนำเศษไม้สักมาเผาให้เกิดความร้อน แล้วจึงนำบาตรไปเผาในฟืนไม้สัก บาตรที่ได้จะเป็นสีเขียวปีกแมลงทับ 

ส่วนรมดำคือการนำบาตรไปเผาจนดำ รอให้เย็น จากนั้นจึงนำน้ำยาที่ทำจากส่วนผสมของใบขี้เหล็ก แอลกอฮอล์ และชะแล็ก มาทาให้ทั่วทั้งด้านนอกและด้านในบาตร ตากให้แห้ง แล้วนำไปรมควันอีกครั้ง ถ้าอยากให้สีดำสนิทก็ให้ทาน้ำยาหลายๆ เที่ยว นอกจากนั้นปัจจุบันยังมีการทำให้เกิดลวดลาย ด้วยการใช้ค้อนค่อยๆ ตีให้ขึ้นลาย ซึ่งเรียกกันว่า ‘บาตรตีเม็ด' 

“ถ้าเป็นพระสายธรรมยุต ส่วนใหญ่ท่านได้บาตรที่ตะไบจนขึ้นเงา แล้วมาก็จะนำไปบ่มเอง การรมดำกับการบ่มบาตร ไม่เหมือนกันนะ รมดำใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียว แต่บ่มบาตรใช้เวลาทั้งวันทั้งคืน ซึ่งช่างแถวบ้านบาตรเราไม่มีความรู้ทางด้านนี้ไม่รู้ว่าท่านทำยังไง แต่พระสายธรรมยุตท่านเก่งมาก เพราะการบ่มบาตรต้องใช้ความอดทนสูง ท่านเก่งกว่าเรา (หัวเราะ) แต่ละวัดไม่เหมือนกัน บางวัดจะใช้บาตรที่มีสีเงินเงาวับ ซึ่งเรียกว่าบาตรตะไบขาว แต่ถ้าเป็นพระสายธรรมยุต จะใช้บาตรซึ่งมีดำสนิท”

ที่ปรึกษา
จุดประสงค์

 

1.เพื่อเป็นการศึกษาความเป็นมาของจีวร

2.เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สถานที่

    ย่านป้อมปราการ

3.เพื่อการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ต้นแบบดั้งเดิม

จัดทำโดย

 

-นักศึกษา วิชาการศึกษารายบุคคล

(Individual Study)

-สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

รองศาสตราจารย์ว่าที่ร้อยโท พิชัย สดภิบาลชาวบ้าน ชุมชนวังกรมสมมตอมรพันธ์

ขอบคุณ ป้าเก่ง (วิทยากร)

ชาวบ้าน ชุมชน บ้านบาตร

 

bottom of page